วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

ปลาการ์ตูน




ปลาการ์ตูน (อังกฤษClownfish, Anemonefish) เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน(Pomacentridae)
ที่อยู่
พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลามีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้มแดงดำเหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง
ชนิดของปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนแบ่งออกได้เป็น 2 สกุล คือ Amphiprion และ Premnas ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว
ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส(Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง
ปัจจุบัน ปลาการ์ตูนพบทั้งหมด 28 ชนิด ในน่านน้ำไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด[1] ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris),ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (A. akallopisos), ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (A. frenatus), ปลาการ์ตูนอานม้า (A. polymnus), ปลาการ์ตูนลายปล้อง (A. clarkii), ปลาการ์ตูนปล้องหางเหลือง (A. sebae) และปลาการ์ตูนแดง (Premnas biaculeatus)
และจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้
การเลี้ยงเป็นปลาสายงาม
ปลาการ์ตูนเป็นปลาทะเลที่เป็นนิยมอย่างมากในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดีสนีย์ เรื่อง Finding Nemo ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2003 แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ความนิยมในปลาการ์ตูนเพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ ซึ่งการได้มาของปลาการ์ตูนจะต้องไปจับจากในทะเล ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ และกระทบถึงสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งผู้จับจะใช้ตาข่ายหรือสวิงช้อนตัวปลาขึ้นมาใส่ไว้ในกล่องพลาสติกกล่องละตัว เพื่อป้องกันปลาต่อสู้กันที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลได้ ปลาที่อ่อนแอหรือไม่สมบูรณ์พร้อม จะถูกคัดทิ้ง 
ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ได้ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ หรือฟาร์มของเอกชนทั่วไปเพื่อจำหน่าย แต่ลูกปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ไม่สามารถนำไปปล่อยแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของปลาได้ เพราะว่าปลาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากปลาใหญ่ชนิดต่าง ๆ จึงต้องไปเป็นเหยื่อกับปลาที่อยู่ตามธรรมชาติ โดยสถานที่แห่งแรกที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้สำเร็จและถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรีของประเทศไทย ที่นำโดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน โดยใช้วิธีการให้ปลาวางไข่กับแผ่นกระเบื้องเซรามิกในตู้เลียนแบบธรรมชาติ นับว่าได้ผลสำเร็จดี ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงวิจัยศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น